วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การผลิตและกระบวนการทางเศรษฐกิจ

มาตรฐานการเรียนรู้ ส 3.1.3

เข้าใจกระบวนการและผลดีและผลเสียของการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตและการบริการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยตระหนักถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภค

ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
1. เข้าใจกระบวนการของการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตและการบริการอย่างมีประสิทธิภาพ
2. วิเคราะห์ผลดี ผลเสียของการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตและการบริการ
3. ตระหนักถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภค จากการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต และการบริการ

สาระการเรียนรู้
1. กระบวนการทางเศรษฐกิจ
    - การผลิต
    - การบริโภค
    - การแบ่งสรรหรือการกระจาย
    - การแลกเปลี่ยน
    ก่อนจะศึกษาเนื้อเรื่องโปรดทดสอบความรู้เดิมของตนเองเสียก่อน ถ้าตอบได้ไม่ถึง 5 ข้อให้กลับมาทำแบบทดสอบใหม่อีกครั้งหลังศึกษาเนื้อเรื่องจบแล้ว
                                             แบบทดสอบ 10 ข้อ
คำสั่ง จงเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคำตอบเดียว

1. ข้อใดไม่ใช่ปัจจัยการผลิต
    ก. การรับหนังสือพิมพ์ไปวางขาย        ข. การนำผลไม้สมาตากแห้ง
    ค. การขี่จักรยานไปทำงาน                  ง. การปลูกฝักโดยไม่ใช้ดิน
2. ถ้านายมีไปซื้อเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ตลาดมาผัดขายเป็นก๋วยเตี๋ยวราดหน้า การผลิตดังกล่าวเป็นการสร้างอรรถประโยชน์ ทางใด
    ก. การเปลี่ยนแปลงรูป                         ข. การเปลี่ยนสถานที่
    ค. การเปลี่ยนเวลา                               ง. การเปลี่ยนกรรมสิทธิ์
3. การผลิตขั้นใดเป็นขั้นทุติยภูมิ
    ก. การเลี้ยงปลาในกระชัง                    ข. การผลิตยางรถยนต์
    ค. การเดินเรือขนส่ง                            ง. การประกันวินาศภัย
4. การนำสินแร่เหล็กมาถลุงเป็นก้อน และนำเหล็กก้อนมารีดเป็นแผ่น แล้วนำเหล็กแผ่นไปประกอบเป็นตัวถังรถยนต์ เป็นกระบวนการในข้อใด
    ก. ผลิตสินค้าสนองความต้องการของผู้บริโภค
    ข. ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการผลิต
    ค. สร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์
    ง. พัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์
5. การใช้จ่ายอุปโภคบริโภคขึ้นอยู่กับปัจจัยน้อยที่สุด
    ก. ต้นทุนการผลิต                          ข. การโฆษณา
    ค. ทรัพย์สินของผู้บริโภค               ง. การเลียนแบบตามแฟชั่น
6. ข้อใดเป็นทุนทางเศรษฐศาสตร์
    ก. ลูกหนี้ของบริษัท                       ข. เงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจ
    ค. มูลค่าหุ้นสามัญของบริษัท        ง. เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในสำนักงาน
7. กิจกรรมใดไม่ใช่การผลิต
    ก. การชกมวยหารายได้ในเวทีต่าง ๆ
    ข. การเป็นนายหน้าขายกรมธรรมืประกันภัย
    ค. การฝึกร้องเพลงทุกวัน เพื่อหวังเป็นนักร้องอาชีพ
    ง. การตั้งโต๊ะรับซื้อสลากที่ถูกรางวัล
8. ข้อใดไม่ใช่การเพิ่มผลผลิตด้วยเทคโนโลยี
    ก. การผลิตที่ใช้แรงงาน
    ข. การเรียนรู้เครื่องจักรกลง่าย ๆ ภายในโรงงาน
    ค. การใช้เครื่องจักรกลอัตโนมัติ
    ง. การใช้การผลิตแบบเดิมไม่มีการวางแผนเน้นพึ่งพาธรรมชาติ
9. ในสำนักงานโดยทั่วไป การเพิ่มผลผลิตด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ข้อใดเหมาะสมที่สุด
    ก. หุ่นยนต์                             ข. แสงเลเซอร์
    ค. คอมพิวเตอร์                     ง. พลังงาน
10. ข้อใดเป็นประโยชน์การใช้หุ่นยนต์ในการทำงาน
    ก. สามารถค้นหาหรือดึงข้อมูลได้ง่าย
    ข. ช่วยลดเวลาในการตัดสินใจทำงาน
    ค. ช่วยลดปัญหาในการออกแบบและทำงานต่าง ๆ
    ง. สามารถทำงานหนัก ๆ แทนคนได้

กระบวนการทางเศรษฐกิจ

ความหมายและลักษณะของกระบวนการทางเศรษฐกิจ
    กระบวนการทางเศรษฐกิจ หมายถึง กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำเอาทรัพยากรมาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด กิจกรรมทางเศรษฐกิจแระกอบด้วย การผลิต การบริโภค การกระจายและการแลกเปลี่ยนสินค้า และบริการ ซึ่งทั้งหมดมีจุดมุ่งหมายสำคัญร่วมกันคือ ความพยายามหาแนวทางประหยัดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดเพื่อให้ได้รับความพอใจสูงสุดจากสินค้าและบริการที่ผลิตได้
การผลิต
    การผลิต หมายถึง การนำเอาปัจจัยการผลิตต่าง ๆ อันได้แก่ ที่ดิน แรงงาน ทุน วัตถุดิบ และผู้ประกอบการ ไปผ่านกระบวนการการผลิตหรือกรรมวิธีในการผลิต จนกระทั่งออกมาเป็นสินค้าหรือบริการสำเร็จรูปเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค เช่น อาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค บริการขนส่ง เป็นต้น กรรมวิธีในการผลิตเป็นการเพิ่มมูลค่าหรือประโยชน์ในการใช้สอยให้กับตัวสินค้าและบริการ ทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ โดยทำให้สิ่งของ หรือบริการมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น และสามารถบำบัดความต้องการของมนุษย์ได้ เช่น การนำไม้มาทำโต๊ะ เก้าอี้ การนำฝ้ายมาทำผืนผ้า หรือการนำผืนผ้ามาทำเป็นเสื้อสำเร็จรูป การนำข้าวเปลือกมาสีเป็นข้าวสารทำให้ข้าวเปลือกมีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งเป็นการเพิ่มประโยชน์ให้กับตัวสินค้า
    การผลิตมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมาก เพราะถ้าไม่มีการผลิตเกิดขึ้น ผู้บริโภคจะต้องได้รับความเดือดร้อนในการดำรงชีวิตอย่างมากมาย เนื่องจากไม่มีสินค้าและบริการตอบสนองความต้องการ การผลิตเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการบริโภคเป็นเป้าหมายสุดท้ายของการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การบริโภคจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการผลิตเกิดขึ้นก่อน โดยทั่วไปการที่ผู้ผลิตตัดสินใจผลิตสินค้าและบริการชนิดใดบ้างนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ หลายประการ เช่น ปริมาณและคุณภาพของทรัพยากร หรือปัจจัยการผลิตที่มีอยู่ ความถนัดและความชำนาญในการผลิตนโยบายเกี่ยวกับการผลิต เป็นต้น ซึ่งมีผลทำให้แต่ละสังคม แต่ละระบบเศรษฐกิจ หรือแต่ละประเทศทำการผลิตสินค้าแตกต่างกันออกไป แต่การผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ นั้นเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งสิ้น

รูปแบบการผลิต
    การผลิตอาจมีรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้
1. การเปลี่ยนแปลงรูป
    การเปลี่ยนแปลงรูปเป็นการนำเอาวัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิตมาเปลี่ยนแปลงรูป เพื่อให้เกิดสินค้าและบริการชนิดใหม่ โดยใช้เครื่องมือ เครื่องจักร หรือเทคโนโลยีการผลิต เช่น การนำถั่วเหลืองมาสกัดเป็นน้ำมัน การแปรรูปจากยางพาราเป็นยางรถยนต์ จากแป้งสาลีเป็นขนมประเภทต่าง ๆ จากเม็ดพลาสติกเป็นอุปกรณ์พลาสติก จากเหล็กและไม้เป็นเฟอร์นิเจอร์
2. การเปลี่ยนสถานที่
    การเปลี่ยนสถานที่เป็นการขนส่งสินค้า หรือวัตถุดิบ จากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่ง เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการผลิตสินค้าและบริการ หรือบำบัดความต้องการให้ผู้บริโภคมากขึ้นอย่างทั่วถึง เช่น การขนส่งยางดิบไปยังโรงงานผลิตยาง การขนส่งอ้อยไปยังโรงงานผลิตน้ำตาล การขนส่งสินค้าจากผู้ผลิตมายังร้านค้าส่ง จากร้านค้าส่งมายังร้านค้าปลีก และจากร้านค้าปลีกมายังผู้บริโภค หรือการขนส่งผู้โดยสารจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่ง ฯลฯ
3. การเปลี่ยนแปลงราคา
    เป็นการสร้างความพอใจให้แก่ผู้บริโภคอันเนื่องจากการแปรรูปปัจจัยการผลิตหรือสินค้า และบริการให้มีอายุการใช้งานนานขึ้น หรือให้ทันกับความต้องการใช้ของผู้บริโภค เช่น การถนอมอาหารเพื่อให้สามารถเก็บอาหารนั้นไว้บริโภคได้นาน ๆ การเสนอข่าวที่ทันต่อเหตุการณ์ของสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ การผลิตสินค้าและบริการที่สอดคล้องกับฤดูกาล เช่น ในฤดูหนาวมีการผลิตเสื้อกันหนาว หรือเครื่องทำน้ำอุ่นเพิ่มขึ้น หรือในฤดูฝนก็มีการผลิตร่มเพิ่มขึ้น เพื่อให้พอเพียงกับความต้องการที่สูงขึ้นในขณะนั้น ๆ
4. การเปลี่ยนกรรมสิทธิ์
    การเปลี่ยนกรรมสิทธิ์เป็นการก่อให้เกิดขึ้นโดยการโอนกรรมสิทธ์จากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง เช่น กิจกรรมของพ่อค้าคนกลาง กิจกรรมของนายหน้าที่มีต่อการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อการลงทุน และกิจกรรมของนายหน้าซื้อขายที่ดิน
5. การให้บริการ
    เป็นการสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือความพอใจอันเนื่องจากการให้บริการโดยตรงแก่ผู้บริโภค เช่น การให้บริการทางการแพทย์ การศึกษา การขนส่ง การธนาคาร การประกันภัย การบริการของบริษัทนำเที่ยว การบริการของร้านอาหาร ธุรกิจโรงแรง เป็นต้น

ปัจจัยการผลิต
    ปัจจัยการผลิต หมายถึง สิ่งต่าง ๆ ที่ผู้ผลิตนำมาผ่านกระบวนการผลิตขึ้นเป็นสินค้าหรือบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค สามารถแบ่งปัจจัยการผลิตออกเป็น 4 อย่างคือ
1. ที่ดิน
    ที่ดินเป็นทรัพยากรที่สำคัญ เป็นที่มาของทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แร่ น้ำมัน ถ่านหิน ฯลฯ ที่ดินก่อให้เกิดการผลิตอย่างอื่น เช่น ใช้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมหรือสถานที่ผลิต เป็นที่เกิดอาหารโดยธรรมชาติ ที่ดินอุดมสมบูรณ์หรือไม่อยู่ในย่านชุมชนจะมีราคาแพง
    ที่ดินมีลักษณะที่แตกต่างจากปัจจัยการผลิตชนิดอื่น ๆ ตามปกติที่ดินจะมีจำกัด มนุษย์ไม่สามารถที่จะทำให้ดินมีปริมาณเพิ่มขึ้นได้เหมือนปัจจัยการผลิตประเภทอื่น ๆ แม้นบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น จะพยายามถมทะเลเพื่อเพิ่มเนื้อที่ดิน แต่ก็ยังเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับความต้องการ นอกจากนี้ที่ดินในแต่ละท้องถิ่นมีความอุดมสมบูรณ์แตกต่างกัน และเป็นสิ่งที่เคลื่อนย้ายไมได้แต่อาจเปลี่ยนการถือครองหรือเปลี่ยนการทำประโยชน์จากที่ดินได้ เช่น ที่ดินของเกษตรกรเปลี่ยนกรรมสิทธิ์มาเป็นของนักธุรกิจ หรือที่ดินที่เคยใช้เพาะปลูกเปลี่ยนเป็นที่ตั้งของโรงงาน เป็นต้น
2. แรงงาน
    แรงงานหรือทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง การใช้แรงกาย หรือสติปัญญา ทักษะความชำนาญต่าง ๆ ในการมีส่วนร่วมที่ก่อให้เกิดผลผลิต หรือการทำงานทุกชนิดที่ก่อให้เกิดผลผลิต แรงงานในฐานะที่เป็นปัจจัยการผลิตแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ
1) แรงงานที่ไม่มีทักษะ เป็นแรงงานที่ทำงานโดยใช้กำลังกาย ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนมาก่อน เช่น งานแบกหาม งานขุดดิน ขนดิน เป็นต้น
2) แรงงานกึ่งทักษะ เป็นแรงงานที่ต้องฝึกฝน หรือมีความรู้บ้างเล็กน้อยจึงจะทำได้ เช่น งานช่างไฟฟ้า ช่างไม้ ช่างก่อสร้าง เป็นต้น
3) แรงงานที่มีทักษะ เป็นแรงงานที่ได้รับการศึกษา อบรมฝึกฝนมาอย่างดี จึงจะทำได้เรียกว่า “ผู้ประกอบอาชีพ” เช่น แพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก ครู เป็นต้น

3. ทุน
    ทุน หมายถึง สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อการผลิตสินค้าและบริการ ที่เรียกว่า สินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักร โรงงาน เครื่องสูบน้ำ รถไถนา จอบ วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิต โดยทั่วไปทุนแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
1) ทุนถาวร คือ อุปกรณ์การผลิต เครื่องจักร เครื่องมือที่มีความคงทนถาวร มีอายุการใช้งานยาวนาน เช่น โรงงาน ถนน สะพาน ทางรถไฟ เป็นต้น
2) ทุนดำเนินการ คือ ทุนประเภทวัตถุดิบต่าง ๆ ซึ่งมีอายุการใช้งานค่อนข้างสั้น เป็นสิ่งที่ใช้แล้วหมดไป ต้องหามาทดแทนใหม่อยู่ตลอดเวลา เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ไม้ ยาง เหล็ก เป็นต้น
3) ทุนสังคม คือ ทุนที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการผลิตโดยตรง เป็นตัวช่วยเสริมสร้างให้การใช้ทุนทั้งสองประเภทข้างต้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น สวนสาธารณะ โรงเรียน โรงพยาบาล สนามกีฬา สระว่ายน้ำ แหล่านี้ล้วนเป็นทุนของประเทศโดยส่วนรวม มีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโยอ้อม คือ ช่วยให้ความรู้ การรักษาสุขภาพอนามัย การพัฒนาในเรื่องคุณภาพชีวิตของบุคคลในสังคม

4. ผู้ประกอบการ
    ผู้ประกอบการ หมายถึง ผู้ที่นำเอาที่ดิน ทุน แรงงาน มาดำเนินการผลิตสินค้า และบริการ เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค ผู้ประกอบการเป็นผู้จัดสรรสินค้าและบริการให้แก่ผู้บริโภคด้วยวิธีการจำหน่ายหรือวิธีการอื่น เป็นผู้ที่เสี่ยงต่อการขาดทุน เป็นผู้ใช้ความรู้และความสามารถในการบริหารงาน ต้องรู้จักบริหารงานบุคคล การวางแผน การวางนโยบาย การประสานงาน การวางนโยบาย ในการดำเนินงานของธุรกิจ การซื้อวัตถุดิบ การผลิตสินค้าออกสู่ตลาด และการขายสินค้าให้ได้กำไร ผู้ประกอบการอาจจะเป็นหรือไม่เป็นเจ้าของทุนก็ได้ แต่เป็นผู้ดำเนินการด้านการจัดการทั้งหม

ลำดับขั้นในการผลิต
    ปัจจุบันเราสามารถแบ่งลำดับขั้นตอนในการผลิตออกเป็น 3 ประเภท คือ
1) การผลิตขั้นแรก หรือขั้นปฐมภูมิเป็นการผลิตที่ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติโดยตรง วิธีการผลิตง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน ใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการผลิตเพียงเล็กน้อย ผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่ต้องนำไปแปรสภาพก่อนที่จะสนองความต้องการได้ เช่น การเพาะปลูก การทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ ประมง ป่าไม้ เหมืองแร่ เป็นต้น
2) การผลิตขั้นที่สอง หรือขั้นทุติยภูมิเป็นการผลิตที่ต้องอาศัยผลผลิตอื่นมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต กรรมวิธีการผลิตมีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น ต้องใช้เครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อประกอบการผลิตมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการผลิตด้านอุตสาหกรรม เช่น การผลิตอาหารกระป๋อง การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า การต่อเรือ การสร้างอาคารที่อยู่อาศัย ฯลฯ กิจกรรมบางอย่างจะให้ผลผลิตที่สามารถสนองความต้องการของผู้ใช้ได้ทันที เช่น เฟอร์นิเจอร์ อาหารกระป๋อง เครื่องใช้ไฟฟ้า และกิจกรรมบางอย่างจะให้ผลผลิตซึ่งต้องนำไปผ่านการผลิตขั้นอื่นก่อน จึงจะใช้ประโยชน์ เช่น เหล็กเส้น และเหล็กแผ่น เป็นต้น
3) การผลิตขั้นที่สามหรือขั้นตติยภูมิเป็นการผลิตในลักษณะการให้บริการด้านการขนส่ง การค้าส่ง การค้าปลีก การประกันภัย การธนาคาร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ผลผลิตเคลื่อนย้ายจากการผลิตขั้นที่หนึ่งไปขั้นที่สอง และไปสู่ผู้บริโภคได้สะดวก รวดเร็ว มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ
    ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้จัดแบ่งการผลิตของประเทศไทยออกเป็นสาขาการผลิตต่าง ๆ ดังนี้
    - การเกษตรกรรม ได้แก่ 4 สาขาย่อย คือ กสิกรรม ปศุสัตว์ ประมง และป่าไม้
    - การอุตสาหกรรม
    - การเหมืองแร่และย่อยหิน
    - การก่อสร้าง
    - การไฟฟ้าและการประปา
    - การคมนาคมและการขนส่ง
    - การค้าส่งและการค้าปลีก
    - การธนาคาร การประกันภัย และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
    - ที่อยู่อาศัย
    - การบริหารราชการและการป้องกันประเทศ
    - การบริการ

พฤติกรรมผู้ผลิต
    พฤติกรรมของผู้ผลิต คือการมุ่งหวังที่จะได้รับผลตอบแทนจากการผลิตให้ได้มากที่สุด มุ่งแสวงหากำไรสูงสุดจากการผลิต ด้วยเหตุนี้ผู้ผลิตจึงต้องใช้ปัจจัยในการผลิตให้ได้ประโยชน์สูงสุด พฤติกรรมผู้ผลิต พอสรุปได้ดังนี้
    1) ทำการผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ สนองความต้องการผู้บริโภค
    2) ใช้ปัจจัยการผลิตน้อย หรือลงทุนต่ำ แต่ให้ได้ผลผลิตมาก
    3) ต้องการจำหน่ายสินค้าและบริการให้ได้มากที่สุด
    4) ต้องการครอบคลุมตลาดให้ได้มากที่สุด
    5) ต้องการให้สินค้าเป็นสินค้าใช้ประกอบกันกับสินค้าอื่น ๆ เพื่อเพิ่มการำจหน่ายสินค้าให้แก่ผู้บริโภค
    6) ต้องการให้สินค้ามีคุณภาพเป็นที่เชื่อถือและไว้วางใจของผู้บริโภค
    7) ต้องการให้ได้กำไรสูงสุดจากการผลิต

การบริโภค
    การบริโภค หมายถึง การใช้ประโยชน์จากสินค้าและบริการในด้านต่าง ๆ โดยตรง การบริโภคครั้งนี้อาจจะบริโภคได้เพียงครั้งเดียว ซึ่งเรียกว่า การบริโภคที่สิ้นเปลืองหมดไป เช่น อาหาร น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น และบางครั้งการบริโภคอาจกระทำได้มากกว่าหนึ่งครั้ง ซึ่งเรียกว่า การบริโภคได้หลายครั้ง เช่น เครื่องนุ่งห่ม หรือของใช้ต่าง ๆ เป็นต้น

การกระจาย และการแลกเปลี่ยน
    การกระจายหรือการแบ่งสรร คือ การจำหน่ายจ่ายแจกสินค้าและบริการซึ่งเป็นผลผลิตไปยังผู้บริโภค และแบ่งสรรผลตอบแทนไปยังผู้มีส่วนร่วมในการผลิต ส่วนการแลกเปลี่ยน หมายถึง การเปลี่ยนความเป็นเจ้าของระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ซึ่งมีวิวัฒนาการแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ การแลกเปลี่ยนแบบสินค้าต่อสินค้า การแลกเปลี่ยนโดยใช้เงินเป็นสื่อกลาง และการแลกเปลี่ยนโดยใช้สินเชื่อหรือเครดิต เป็นต้น

การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการเพิ่มผลผลิตและบริการ
    ในการดำเนินธุรกิจสิ่งที่สำคัญ คือ การลงทุนน้อยแต่ได้รับผลตอบแทนหรือกำไรมากระบบการผลิตแบบเก่าที่ใช้ในการผลิตสินค้าหรือบริการ อาจทำให้การผลิตในแต่ละขั้นได้จำนวนน้อย และคุณภาพของสินค้าอาจไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนด จึงได้เกิดความคิดและแนวคิดในการดำเนินการเพื่อผลผลิตขึ้นมา เป็นการใช้ทรัพยากรในการผลิตอย่างคุ้มค่า ลดการสูญเสีย ปรับปรุงกระบวนการผลิต และมุ่งเน้นกระบวนการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การเพิ่มผลผลิตจะนำไปสู่การกินดีอยู่ดีของประชาชน มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีงานทำ เป็นการช่วยลดปัญหาของประเทศชาติโดยทางอ้อม การเพิ่มผลผลิตจึงเป็นการปรับสภาพเศรษฐกิจและสังคม ให้เข้ากับสภาวการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลง เป็นการประยุกต์ วิธีการหรือเทคนิคใหม่ ๆ ให้เกิดประโยชน์แก่หน่วยงานหรือองค์กรรวมทั้งความสำนึกในการประหยัดทรัพยากร พลังงาน และเงินตรา
    การเพิ่มผลผลิต (Productivity) หมายถึง อัตราส่วนระหว่างผลผลิตที่ออกมาจากกระบวนการผลิต ซึ่งจะเป็นสินค้าหรือบริการที่ผลิตออกมากับปัจจัยนำเข้า (Input) ประกอบด้วย แรงงาน วัตถุดิบ ทุน พลังงาน และเครื่องจักร อุปกรณ์ต่าง ๆ
    แนวคิดในการเพิ่มผลผลิต มี 2 ลักษณะ คือ แนวคิดการเพิ่มผลผลิต โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในการผลิตอย่างคุ้มค่า ลดการสูญเสีย ปรับปรุงกระบวนการผลิต และมุ่งเน้นการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และแนวคิดการเพิ่มผลผลิตโดยการปรับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมให้เข้ากับสภาวการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลง เป็นความพยายามที่จะประยุกต์วิธีการและเทคนิคใหม่ ๆ

การเพิ่มผลผลิตด้วยเทคโนลยี
    เทคโนโลยี หมายถึง การประยุกต์หรือบูรณาการ โดยการนำวิทยาการความรู้ ความเข้าใจ ประสบการณ์ และความชำนาญต่าง ๆ มารวมกัน และสร้างอุปกรณ์ หรือใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินการในการผลิตสินค้าและบริการเป็นไปด้วยความมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล

เทคโนโลยี สามารถจำแนกได้ 2 ลักษณะคือ
    1) เทคโนโลยีที่แฝงอยู่ในรูปของความรู้ วิทยาการ และวิธีการทำงานต่าง ๆ คือการเลือกใช้เทคนิคและวิธีการแบบใหม่ ๆ ที่ทำให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความง่าย รวดเร็ว ประหยัด และมีประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าวิธีการทำงานแบบเดิม ๆ
    2) เทคโนโลยีที่แฝงมากับอุปกรณ์ และเครื่องจักรในการผลิต คือ เครื่องมือที่ทำหน้าที่เสริมสร้างความสามารถทางกายภาพและความคิดของมนุษย์ ตลอดจนเป็นสิ่งที่ช่วยให้การทำงานบางอย่างง่ายกว่าการทำงานด้วยมือเปล่า ได้แก่ เครื่องมือเพื่อใช้ในการผลิต เครื่องจักรกล คอมพิวเตอร์ต่าง ๆ เป็นต้น

ขั้นตอนการเพิ่มผลผลิตด้วยเทคโนโลยี
    การเพิ่มผลผลิตด้วยเทคโนโลยี จะมีการปรับปรุงวิธีการทำงานที่เป็นลำดับพื้นฐานขึ้นมาโดยมีขั้นตอน ดังนี้
    1) ขั้นที่ 1 การปรับปรุงวิธีการทำงานขั้นที่ 1 การปรับปรุงวิธีการทำงาน เป็นขั้นตอนแรกของการเพิ่มผลผลิตโดยใช้เทคโนโลยีเป็นการผลิตที่ใช้แรงงาน การเพิ่มผลผลิตขั้นตอนนี้ เป็นการใช้แรงงานคนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นลักษณะการจัดสรรคนให้เหมาะสมกับงาน และการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของกำลังคนให้ดีขึ้น
    2) ขั้นที่ 2 การปรับปรุงเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ขั้นที่ 2 การปรับปรุงเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ เป็นการพัฒนาการใช้อุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ หรือเครื่องจักรกลแบบง่าย ๆ โดยบุคลากรต้องได้รับการเรียนรู้ในการใช้ การซ่อมบำรุงเครื่องจักรกลนั้น ๆ ตลอดจนการเรียนรู้ความปลอดภัยเบื้องต้น เช่น ความปลอดภัยในการใช้เครื่องมือและความปลอดภัยใยสภาพแวดล้อมการทำงาน เป็นต้น
    3) ขั้นที่ 3 เครื่องจักรกลอัตโนมัติ ขั้นที่ 3 เครื่องจักรกลอัตโนมัติ เป็นขั้นตอนการนำเอาเครื่องจักรกลอัตโนมัติ คอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์มาใช้ในระบบการผลิต

เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการเพิ่มผลผลิต
    1. การนำคอมพิวเตอร์มาช่วยในการทำงานคอมพิวเตอร์มีคุณสมบัติพิเศษหลายประการ ทั้งในระบบการประมวลผลการคำนวณและการค้นหาข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่เป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว และทันสมัย ปัจจุบันนี้คอมพิวเตอร์ได้เข้ามามีบทบาทในการทำงานทั้งในบริษัท สำนักงานและระบบโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งในด้านการออกแบบการผลิต การควบคุมการผลิต และระบบการบรรจุภัณฑ์ ซึ่งช่วยให้การผลิตมีประสิทธิภาพสูง และรวดเร็ว ลดการสูญเสียต่าง ๆ ในกระบวนการผลิตได้อย่างดี
    2. การใช้หุ่นยนต์ในการทำงาน ประเทศที่พัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ระบบการผลิตสินค้าในโรงงานอุตสาหกรรมบางชนิดที่ต้องการความสม่ำเสมอ ความแม่นยำ และการตรงต่อเวลา จะใช้หุ่นยนต์ช่วยในการดำเนินการผลิต เพราะสามารถทำงานหนัก ๆ แทนคนได้ ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ลดค่าแรงและสวัสดิการต่าง ๆ ทำให้สินค้ามีคุณภาพมาตรฐาน
    3. เทคโนโลยีด้านพลังงาน ในยุคโลกาภิวัฒน์มนุษย์มุ่งที่จะผลิตสินค้าให้มีปริมาณมากและคุณภาพสูง ด้วยวิธีการลงทุนต่ำและได้ผลตอบแทนสูง มนุษย์จึงต้องพยายามใช้เครื่องจักร และอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการผลิตสินค้าเทคโนโลยีทางด้านพลังงาน จึงมีส่วนสำคัญในด้านการผลิต จึงเกิดจากความพยายามในการแสวงหาพลังงานที่หลากหลาย นอกเหนือจากถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่เหลือน้อยและมีราคาแพงขึ้น พลังงานที่นิยมนำมาใช้เพิ่มขึ้น เช่น พลังงานเคมี พลังงานนิวเคลียร์ พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานใต้พิภพ เป็นต้น ซึ่งการใช้เทคโนโลยีด้านพลังงานนี้ต้องมีการควบคุมดูแลเป็นกรณีพิเศษ
    4. การใช้แสงเลเซอร์ กระบวนการผลิตสินค้าหลายประเภท ได้นำแสงเลเซอร์มาใช้ในการผลิตสินค้า เช่น การปรับความแข็งของผิวโลหะ การเชื่อมโลหะ การเจาะและงานตัดต่าง ๆ นอกจากนี้มีการใช้แสงเลเซอร์ในการเอกซเรย์ ความเหนียวแน่น การยึดเกาะตัวของโมเลกุลของวัตถุอีกด้วยเทคโนโลยีแสงเลเซอร์จะทำให้ผลผลิตการทำงานมีคุณภาพสูง และทำงานได้อย่างรวดเร็ว เช่น การใช้แสงเลเซอร์เป็นเครื่องมือช่วยในการผ่าตัดของแพทย์จะช่วยให้แพทย์สามารถผ่าตัดอวัยวะของมนุษย์ในส่วนที่ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ แม่นยำ ได้แก่ สมอง และตาเป็นต้น

ประโยชน์จากการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการเพิ่มผลผลิต
    1. การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการผลิตสินค้าและบริการช่วยให้สินค้าและบริการมีคุณภาพได้มาตรฐานตามแบบสากล กล่าวคือ มีการกำหนดระดับคุณภาพ จัดทำมาตรฐาน ควบคุมกระบวนการผลิต ตั้งแต่ การตรวจสอบคุณภาพ การควบคุมคุณภาพ และการประกันคุณภาพการใช้งานของสินค้า
    2. การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการผลิตสินค้าและบริการช่วยให้เกิดความปลอดภัยในกระบวนการทำงาน ทำให้พนักงานได้ผลงานที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพในการทำงานที่สูง
    3. การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการผลิตสินค้าและบริการช่วยให้หน่วยธุรกิจหรือรัฐบาลมีผลกำไรเพิ่มขึ้นจากการประกอบการ ทำให้ภาคการผลิตเกิดความมั่นคง ทั้งในระดับจุลภาค และมหภาค กล่าวคือ ถ้าหน่วยธุรกิจมีผลกำไรเพิ่มขึ้น เกิดความมั่นคง ส่งผลให้พนักงานมีรายได้เพิ่มขึ้น เกิดความมั่นคงในการทำงาน อัตราการว่างงานลดลง รัฐบาลมีรายได้จากการเก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้น

ผลกระทบที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยี
    ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญต่อการเพิ่มปริมาณผลผลิต และพัฒนาคุณภาพสินค้าแต่ผลกระทบที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยี มีหลายประการ พอสรุปได้ดังนี้
    1. เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ การขยายตัวอย่างรวดเร็วของกำลังการผลิตเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค ทำให้เกิดกากหรือของเสียจากการผลิตพร้อม ๆ กับการลดลงของทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลต่อปริมาณน้ำฝนที่ตกในเขตต่าง ๆ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงออกมาเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ เกิดปัญหาภาวะเรือนกระจก กระทบต่อระบบนิเวศของมนุษย์ หรือปัญหาการกำจัดกากสารนิวเคลียร์ ปัญหาการผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยน้ำทิ้ง หรือมลพิษทางอากาศของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ซึ่งละลายปนมากับฝนกลายเป็นกรด ส่งผลเสียหายต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์
    2. เกิดผลกระทบต่อดุลการค้า เกิดผลกระทบต่อดุลการค้า กล่าวคือ ในยุคของการแข่งขันเพื่อแยงชิงการตลาด ผู้ผลิตแต่ละรายต่างเร่งเพิ่มผลผลิตโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ ประเทศกำลังพัฒนาต้องพึ่งพาเทคโนโลยี หรือเครื่องจักรกล เครื่องมือและอุปกรณ์การผลิตจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการขากดุลการค้า
    3. เกิดผลกระทบต่อการบริโภคนิยม เกิดผลกระทบต่อการบริโภคนิยม กล่าวคือ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์ในด้านสินค้าและบริการมีคุณภาพสูง ราคาถูก มีสินค้าให้เลือกมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันจะเกิดผลกระทบต่อการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยของผู้บริโภคที่ใช้สอยเกินพอดี เพื่อให้ทันต่อรุ่นหรือแบบที่เปลี่ยนแปลงไป เกิดความไม่รู้จักพอของผู้บริโภค มีการบริโภคนิยมมากขึ้น

ผู้บริโภคกับการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตและการบริการ
    การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต นอกจากส่งผลต่อผู้ประกอบการและพนักงานแล้วยังส่งผลต่อผู้บริโภคด้วย การเพิ่มผลผลิตที่ดีจะต้องประกอบด้วยคุณภาพของสินค้า บริการที่ดี และเป็นที่พึงพอใจแก่ลูกค้า ดังนั้น ผู้ผลิตจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภคในลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
   1. ดุลภาพของสินค้า
ดุลภาพของสินค้า สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการหรือพึงพอใจ คือความมีคุณภาพของสินค้า ผู้ผลิตมุ่งวิจัยและพัฒนาคุณภาพของสินค้าเพื่อให้ผู้บริโภคพึงพอใจมากที่สุด
   2. ต้นทุนการผลิต และการส่งมอบต้นทุนการผลิต และการส่งมอบ การผลิตจะผลิตสินค้าด้วยต้นทุนต่ำ และส่งมอบให้ลูกค้าได้ทันเวลา ผู้ผลิตจึงมุ่งพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ ให้เป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภค และส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้บริโภคได้ตามกำหนดเวลาที่ผู้บริโภคต้องการ
   3. ความปลอดภัย ความปลอดภัย ผู้บริโภคจะพึงพอใจในสินค้าที่มีความปลอดภัย ผู้ผลิตจึงต้องมุ่งผลิต
สินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและไม่เอาเปรียบผู้บริโภค
    กล่าวโดยสรุป กระบวนการทางเศรษฐกิจประกอบด้วย การผลิต การบริโภค การกระจายและการแลกเปลี่ยน การพัฒนากระบวนการทางเศรษฐกิจดังกล่าว มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ดังนั้นการเข้าใจกระบวนการและผลดีผลเสียของการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มผลผลิตสินค้าและบริการ จึงก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ศึกษาอย่างยิ่ง